คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นหน่วยงานระดับคณะในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา ขณะที่มีฐานะเป็นวิทยาลัยครูอยู่นั้น การบริหารงานมีลักษณะเรียกว่าหมวดวิชา เช่น หมวดวิชาสังคมศึกษา หมวดวิชาภาษาอังกฤษ หมวดวิชาภาษาไทย เป็นต้น มีภารกิจจัดการสอนวิชาในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้กับนักศึกษาครูระดับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นต้น และประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง
หลังจากมีประกาศพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ในปี พ.ศ. 2518 กำหนดให้วิทยาลัยครูเปิดการสอนนักศึกษาสายครูจนถึงระดับปริญญาตรี หมวดวิชาสังคมศึกษา หมวดวิชาภาษาอังกฤษ หมวดวิชาภาษาไทย ถูกรวมเป็น “คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” เป็น 1 ใน 3 คณะวิชาของวิทยาลัยครูฉะเชิงเทราในขณะนั้น ร่วมกับคณะวิชาครุศาสตร์ และคณะวิชาวิทยาศาสตร์ มีหน้าที่รับผิดชอบการผลิตบัณฑิตสายครู สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา ศิลปศึกษา นาฏศิลป์และดนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 หลังมีประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ฉบับที่ 2 จึงมีการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีในสาขาอื่นนอกจากบัณฑิตสายครู คือ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.) สาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) สาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และผลิตบัณฑิตระดับอนุปริญญาในสาขาวิชาอังกฤษธุรกิจ
พ.ศ. 2538 หลังจากมีพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ วิทยาลัยครูทั่วประเทศได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2538 ว่า “สถาบันราชภัฏ” วิทยาลัยครูฉะเชิงเทราจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา” ในวาระนี้ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานและเปลี่ยนชื่อเรียกจาก “คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” เป็น “คณะ” (Faculty) เรียกว่า “คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” และเปลี่ยนการบริหารงานจาก “หัวหน้าคณะ” เป็น “คณบดี”
พ.ศ. 2545 สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา มีนโยบายให้คณะครุศาสตร์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการผลิตครูทุกสาขาวิชา ดังนั้น นักศึกษาสายครูที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2545 จึงย้ายจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไปสังกัดคณะครุศาสตร์แทน นับแต่นั้น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาหลักสูตรใหม่หลายหลักสูตร ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อให้มีความทันสมัย รองรับความต้องการของผู้เรียน และสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป การเปิดหลักสูตรใหม่ตลอดจนการปรับปรุงหลักสูตร ดำเนินมาโดยลำดับ ดังนี้
ปีการศึกษา 2545 เปิดโปรแกรมระดับปริญญาตรี 2 โปรแกรม คือ โปรแกรมพัฒนาชุมชน และโปรแกรมรัฐประศาสนศาสตร์
ปีการศึกษา 2546 เปิดโปรแกรมระดับปริญญาตรี 1 โปรแกรม คือ โปรแกรมภาษาอังกฤษธุรกิจ
ปีการศึกษา 2547 เปิดโปรแกรมระดับปริญญาตรี 1 โปรแกรม คือ โปรแกรมภาษาญี่ปุ่น
ปีการศึกษา 2551 เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ
ปีการศึกษา 2552 ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ 3 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏดุริยางคศิลป์ไทย และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ หลักสูตรปริญญาโท 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
ปีการศึกษา 2554 ปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโทให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 9 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปกรรม, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏดุริยางคศิลป์ไทย, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีสากล, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น, หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
ปีการศึกษา 2556 เปิดหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์
ปีการศึกษา 2557 ปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเพื่อการพัฒนา และปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์
ปีการศึกษา 2558 เปิดหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์
ปัจจุบัน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เปิดการเรียนการสอนทั้งสิ้น 11 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรระดับปริญญาตรี 10 หลักสูตร และหลักสูตรปริญญาเอก 1 หลักสูตร ดังนี้
หลักสูตรระดับปริญญาตรี
- หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์และมีเดียอาร์ต
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
- หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ
- หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีสากล
- หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
- หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์
- หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์
หลักสูตรระดับปริญญาเอก
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเพื่อการพัฒนา
รายนามผู้บริหารคณะ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีผู้บริหารคณะนับตั้งแต่มีประกาศพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ระยะแรกเรียกว่า “หัวหน้าคณะ” มีรายนามดังนี้
- อาจารย์สุมน อ้นไชยะ (พ.ศ.2520-2521)
- อาจารย์ยาใจ รีละชาติ (พ.ศ.2522-2526)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชอบ เริงทรัพย์ (พ.ศ.2527-2530)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์พลากร โพพิศ (พ.ศ.2531-2532)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบูรณ์ ศุภจริยาวัตร (พ.ศ.2533-2536)
- อาจารย์อุทิน รวยอารี (พ.ศ.2536-2538)
หลังประกาศพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เมื่อ พ.ศ.2538 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เปลี่ยนการบริหารงานจาก “หัวหน้าคณะ” เป็น “คณบดี” เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานของมหาวิทยาลัย จาก “คณะวิชา” เป็น “คณะ” (Faculty) คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นับแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน มีรายนามดังนี้
- อาจารย์อุทิน รวยอารี (26 กรกฎาคม พ.ศ.2538- 25 กรกฎาคม พ.ศ.2542)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผ่องศรี มาสขาว (26 กรกฎาคม พ.ศ.2542- 25 กรกฎาคม พ.ศ.2545)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผ่องศรี มาสขาว (26 กรกฎาคม พ.ศ.2545- 30 กันยายน พ.ศ.2547)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิสา เมลานนท์ (30 มกราคม พ.ศ.2548 – 29 มกราคม พ.ศ.2552)
- อาจารย์ ดร. เทพนคร ทาคง (8 มีนาคม พ.ศ.2552- 7 มีนาคม พ.ศ.2556)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลักษณพร โรจน์พิทักษ์กุล (8 มีนาคม พ.ศ.2556- 7 มีนาคม พ.ศ.2560)
- อาจารย์ ดร.ไชยะ เทพา (รักษาราชการ) (8 มีนาคม พ.ศ.2560- 25 เมษายน พ.ศ.2560)
- อาจารย์ ดร.เทพนคร ทาคง (26 เมษายน พ.ศ.2560- 25 เมษายน 2564)
- อาจารย์ ดร.วรี เรืองสุข (26 เมษายน พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน)